วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แนะนำห้องกายภาพบำบัด รพ.รร.จปร.

รู้จักกายภาพบำบัดกันนะคะ

กายภาพบำบัด (Physical Therapy)
กายภาพบำบัด ให้คำปรึกษา ให้บริการทางกายภาพบำบัดเพื่อรักษาและฟื้นฟูอาการของผู้ป่วยหรือผู้พิการให้กลับสู่ภาวะปกติหรือใกล้เคียงภาวะปกติให้มากที่สุด ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล โดยเป็นการฝึกเพื่อให้มีกำลังกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ป้องกันการเกิดข้อยึดติด แก้ไขความผิดปกติที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เป็นต้น โดยมุ่งเน้นให้ผู้ป่วย / ผู้พิการ / ผู้ดูแลและญาติเข้าใจถึงภาวะการดำเนินโรค วิธีการดูแล และการฝึกอย่างถูกวิธี ตลอดจนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติที่สุด
โรคที่สามารถใช้การรักษาทางกายภาพบำบัดได้แก่
1. ปัญหาโรคกระดูกและข้อเช่น ปวดหลัง ปวดคอ ข้อติดแข็ง กล้ามเนื้อลีบเล็ก กระดูกทับเส้นประสาท ข้อเสื่อม ข้ออักเสบ อุบัติเหตุต่างๆ เป็นต้น
2. ปัญหาโรคทางระบบประสาทเช่น อัมพาตครึ่งซีก อัมพาตครึ่งท่อน อัมพาตทั้งตัว
3. ปัญหาโรคทางระบบหายใจและหัวใจและหลอดเลือด
4. ปัญหาการพัฒนาการผิดปกติในเด็ก
กายภาพบำบัดให้การรักษาโดยวิธีการทางกายภาพบำบัดต่างๆ เช่น
1. รักษาโดยคลื่นไฟฟ้าความร้อน (diathermy)
2. รักษาโดยคลื่นเหนือเสียง (Ultrasound)
3. การดึง (Traction)
4. การประคบความร้อน (Hot pack)
5. การดัดและดึง (Joint mobilization)
6. การนวด (Massage)
7. การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical Stimulation)
8. การออกกำลังเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว (ROM exercise)
9. การออกกำลังเพิ่มความแข็งแรง (Strengthening exercise)
10. การออกกำลังกายแบบทำให้ (Passive exercise)
11. การฝึกเดิน (Gait training)
12. การฝึกกิจวัตรประจำวัน (ADL training)
การให้บริการ
ผู้ป่วยใหม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ เพื่อประเมินสภาวะคนไข้ และพิจารณาสั่งการรักษาทางกายภาพบำบัด โดยจะมีนักกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์ และเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วย ทำการกายภาพบำบัดและฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยต่อไป โดยในหน่วยกายภาพบำบัดจะมีเครื่องมือทางกายภาพบำบัด บุคลากรที่พร้อมดูแลตลอด

ความรู้จากแผนกกายภาพบำบัด

เอ็นกล้ามเนื้อข้อศอกด้านนอกอักเสบ(Tennis elbow)
การอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อที่ยึดเกาะที่กระดูกข้อศอกพบได้ทั้งด้านนอกและด้านในข้อศอก ทางด้านนอกพบได้บ่อยกว่า เอ็นกล้ามเนื้อที่ยึดเกาะที่กระดูกข้อศอกทางด้านนอกอักเสบเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า Tennis elbow เกิดจากมีการอักเสบของกล้ามเนื้อที่ยึดเกาะที่กระดูกข้อศอกด้านนอก เป็นกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อมือขึ้น(Extensor muscles of forearm) ซึ่งจะเกาะอยู่ตรงปุ่มกระดูกทางด้านนอกของข้อศอก( lateral epicondyle ) ส่วนใหญ่การอักเสบเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อกลุ่มนี้ทำงานซ้ำๆ ทำให้เอ็นกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้อมัดนี้มีการบาดเจ็บสะสม โดยเฉพาะตรงจุดที่เอ็นกล้ามเนื้อยึดเกาะกับกระดูก ผู้ป่วยจึงมีอาการเจ็บที่ตำแหน่งดังกล่าว (ดังรูป)


ตำแหน่งที่มีอาการ
อาการและอาการแสดง
ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดเล็กๆ น้อยๆ มานานในบริเวณข้อศอกด้านนอก อาการปวดจะเป็นมากขึ้น เมื่อยกของหรือบิดแขน บางครั้งจะมีอาการปวดร้าวไปบริเวณแขนหรือต้นแขนได้ ผู้ป่วยมีจุดกดเจ็บทางด้านนอกของข้อศอก เมื่อผู้ป่วยคว่ำมือหรือกระดกข้อมืออย่างแรงในขณะเหยียดข้อศอกผู้ป่วยจะเจ็บอย่างมาก แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยได้โดยให้ผู้ป่วยคว่ำมือลงและกระดกข้อมือต้านแรงแพทย์เต็มที่ (ดังรูป) จะพบว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บที่ข้อศอกด้านนอกอย่างมาก


เมื่อผู้ป่วยคว่ำมือลงและกระดกข้อมือต้านแรงแพทย์เต็มที่จะมีอาการเจ็บที่ข้อศอกด้านนอก
การรักษา
1. การรักษาโดยไม่ผ่าตัดถ้าผู้ป่วยมีอาการยังไม่มากใช้วิธีการรักษาโดยไม่ผ่าตัดอันประกอบด้วย
1.1การรับประทานยาเพื่อลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น โดยทั่วไปให้รับประทานยาต้าน การอักเสบที่ไม่ใช่
สเตียรอยด์ (NSAIDs)
1.2.การทำกายภาพบำบัดเพื่อลด อาการปวด และบวมของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ได้แก่
1.การวางแผ่นร้อน ใช้เวลา 15 – 20 นาที
2.การทำอัลตราซาวน์ ใช้เวลา 5- 8 นาที ความเข้มของคลื่น 0.8 - 1.0 w/cm2
3. การนวดด้วยการกดจุด ( deep friction ) และนวดคลายกล้ามเนื้อโดยการนวดขวางเส้นใยกล้ามเนื้อ
4.การแนะนำการออกกำลังกายโดย
1) วิธีการยืดเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อในการกระดกข้อมือ โดยใช้ท่าในการยืดด้วยการเหยียดข้อศอกให้เหยียดตรงคว่ำข้อมือลงใช้มืออีกข้างหนึ่งพยายามกดข้อมือให้กระดกลง ทำค้างไว้ 10 - 15 วินาที จำนวน 10 - 15 ครั้ง/ ชุด 2 – 3 ชุด/วัน
2) วิธีการออกกำลัง กล้ามเนื้อในการกระดกข้อมือ โดยกระดกข้อมือขึ้น- ลง จำนวนวินาที จำนวน 10 - 15 ครั้ง/ ชุด 2 – 3 ชุด/วัน การออกกำลังกล้ามเนื้อนี้ ควรทำหลังที่อาการอักเสบลดลงแล้วค่อยเพิ่มการออกกำลังกาย
5. จากการกดและออกกำลังอาจมีการอักเสบเกิดขึ้นได้ใช้การประคบความเย็นเพื่อลดการอักเสบอีกครั้ง
การใส่อุปกรณ์รัดตรงบริเวณข้อศอก (Tennis elbow cuff) โดยมีจุดประสงค์ให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อมือทำงานลดลง โดยอุปกรณ์นี้จะรัดกล้ามเนื้อที่ต่ำกว่าข้อศอกไว้ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวได้ไม่เต็มที่ ถึงแม้ผู้ป่วยจะเผลอใช้กล้ามเนื้อนี้กระดกข้อมือแรงๆก็ตาม ทำให้ลดแรงกระชากของกล้ามเนื้อที่จุดยึดเกาะกับกระดูก เป็นการป้องกันไม่ให้มีการบาดเจ็บซ้ำ ช่วยให้การอักเสบไม่เกิดมากขึ้น
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าตรงบริเวณจุดยึดเกาะของเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อซึ่งจะลดการอักเสบได้ดี แต่ไม่ควรทำมากกว่า 3-4 ครั้งต่อปี เพราะอาจทำให้เส้นเอ็นขาดได้

2. การรักษาโดยการผ่าตัด ทำในรายที่เป็นมานานๆ และการรักษาโดยไม่ผ่าตัดไม่ได้ผล
การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรค
1. หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องขยับข้อมือขึ้นลงซ้ำ ๆ กระดกข้อมือแรงๆและกำมือแน่นๆ เช่น การบิดผ้าแรงๆ เป็นต้น
2. การประคบกระเป๋าน้ำร้อนบริเวณที่เป็นจะช่วยให้อาการปวดลดลงได้
3.ควรยืดกล้ามเนื้อให้สม่ำเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น