วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ขอถวายพระพรในหลวง

ห้องกายภาพบำบัด  รพ.รร.จปร. สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่หัวพ่อของแผ่นดิน
                                         ขอถวายพระพรชัย   พ่อของแผ่นดินของคนไทย

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แนะนำห้องกายภาพบำบัด รพ.รร.จปร.

รู้จักกายภาพบำบัดกันนะคะ

กายภาพบำบัด (Physical Therapy)
กายภาพบำบัด ให้คำปรึกษา ให้บริการทางกายภาพบำบัดเพื่อรักษาและฟื้นฟูอาการของผู้ป่วยหรือผู้พิการให้กลับสู่ภาวะปกติหรือใกล้เคียงภาวะปกติให้มากที่สุด ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล โดยเป็นการฝึกเพื่อให้มีกำลังกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ป้องกันการเกิดข้อยึดติด แก้ไขความผิดปกติที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เป็นต้น โดยมุ่งเน้นให้ผู้ป่วย / ผู้พิการ / ผู้ดูแลและญาติเข้าใจถึงภาวะการดำเนินโรค วิธีการดูแล และการฝึกอย่างถูกวิธี ตลอดจนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติที่สุด
โรคที่สามารถใช้การรักษาทางกายภาพบำบัดได้แก่
1. ปัญหาโรคกระดูกและข้อเช่น ปวดหลัง ปวดคอ ข้อติดแข็ง กล้ามเนื้อลีบเล็ก กระดูกทับเส้นประสาท ข้อเสื่อม ข้ออักเสบ อุบัติเหตุต่างๆ เป็นต้น
2. ปัญหาโรคทางระบบประสาทเช่น อัมพาตครึ่งซีก อัมพาตครึ่งท่อน อัมพาตทั้งตัว
3. ปัญหาโรคทางระบบหายใจและหัวใจและหลอดเลือด
4. ปัญหาการพัฒนาการผิดปกติในเด็ก
กายภาพบำบัดให้การรักษาโดยวิธีการทางกายภาพบำบัดต่างๆ เช่น
1. รักษาโดยคลื่นไฟฟ้าความร้อน (diathermy)
2. รักษาโดยคลื่นเหนือเสียง (Ultrasound)
3. การดึง (Traction)
4. การประคบความร้อน (Hot pack)
5. การดัดและดึง (Joint mobilization)
6. การนวด (Massage)
7. การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical Stimulation)
8. การออกกำลังเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว (ROM exercise)
9. การออกกำลังเพิ่มความแข็งแรง (Strengthening exercise)
10. การออกกำลังกายแบบทำให้ (Passive exercise)
11. การฝึกเดิน (Gait training)
12. การฝึกกิจวัตรประจำวัน (ADL training)
การให้บริการ
ผู้ป่วยใหม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ เพื่อประเมินสภาวะคนไข้ และพิจารณาสั่งการรักษาทางกายภาพบำบัด โดยจะมีนักกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์ และเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วย ทำการกายภาพบำบัดและฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยต่อไป โดยในหน่วยกายภาพบำบัดจะมีเครื่องมือทางกายภาพบำบัด บุคลากรที่พร้อมดูแลตลอด

ความรู้จากแผนกกายภาพบำบัด

เอ็นกล้ามเนื้อข้อศอกด้านนอกอักเสบ(Tennis elbow)
การอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อที่ยึดเกาะที่กระดูกข้อศอกพบได้ทั้งด้านนอกและด้านในข้อศอก ทางด้านนอกพบได้บ่อยกว่า เอ็นกล้ามเนื้อที่ยึดเกาะที่กระดูกข้อศอกทางด้านนอกอักเสบเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า Tennis elbow เกิดจากมีการอักเสบของกล้ามเนื้อที่ยึดเกาะที่กระดูกข้อศอกด้านนอก เป็นกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อมือขึ้น(Extensor muscles of forearm) ซึ่งจะเกาะอยู่ตรงปุ่มกระดูกทางด้านนอกของข้อศอก( lateral epicondyle ) ส่วนใหญ่การอักเสบเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อกลุ่มนี้ทำงานซ้ำๆ ทำให้เอ็นกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้อมัดนี้มีการบาดเจ็บสะสม โดยเฉพาะตรงจุดที่เอ็นกล้ามเนื้อยึดเกาะกับกระดูก ผู้ป่วยจึงมีอาการเจ็บที่ตำแหน่งดังกล่าว (ดังรูป)


ตำแหน่งที่มีอาการ
อาการและอาการแสดง
ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดเล็กๆ น้อยๆ มานานในบริเวณข้อศอกด้านนอก อาการปวดจะเป็นมากขึ้น เมื่อยกของหรือบิดแขน บางครั้งจะมีอาการปวดร้าวไปบริเวณแขนหรือต้นแขนได้ ผู้ป่วยมีจุดกดเจ็บทางด้านนอกของข้อศอก เมื่อผู้ป่วยคว่ำมือหรือกระดกข้อมืออย่างแรงในขณะเหยียดข้อศอกผู้ป่วยจะเจ็บอย่างมาก แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยได้โดยให้ผู้ป่วยคว่ำมือลงและกระดกข้อมือต้านแรงแพทย์เต็มที่ (ดังรูป) จะพบว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บที่ข้อศอกด้านนอกอย่างมาก


เมื่อผู้ป่วยคว่ำมือลงและกระดกข้อมือต้านแรงแพทย์เต็มที่จะมีอาการเจ็บที่ข้อศอกด้านนอก
การรักษา
1. การรักษาโดยไม่ผ่าตัดถ้าผู้ป่วยมีอาการยังไม่มากใช้วิธีการรักษาโดยไม่ผ่าตัดอันประกอบด้วย
1.1การรับประทานยาเพื่อลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น โดยทั่วไปให้รับประทานยาต้าน การอักเสบที่ไม่ใช่
สเตียรอยด์ (NSAIDs)
1.2.การทำกายภาพบำบัดเพื่อลด อาการปวด และบวมของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ได้แก่
1.การวางแผ่นร้อน ใช้เวลา 15 – 20 นาที
2.การทำอัลตราซาวน์ ใช้เวลา 5- 8 นาที ความเข้มของคลื่น 0.8 - 1.0 w/cm2
3. การนวดด้วยการกดจุด ( deep friction ) และนวดคลายกล้ามเนื้อโดยการนวดขวางเส้นใยกล้ามเนื้อ
4.การแนะนำการออกกำลังกายโดย
1) วิธีการยืดเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อในการกระดกข้อมือ โดยใช้ท่าในการยืดด้วยการเหยียดข้อศอกให้เหยียดตรงคว่ำข้อมือลงใช้มืออีกข้างหนึ่งพยายามกดข้อมือให้กระดกลง ทำค้างไว้ 10 - 15 วินาที จำนวน 10 - 15 ครั้ง/ ชุด 2 – 3 ชุด/วัน
2) วิธีการออกกำลัง กล้ามเนื้อในการกระดกข้อมือ โดยกระดกข้อมือขึ้น- ลง จำนวนวินาที จำนวน 10 - 15 ครั้ง/ ชุด 2 – 3 ชุด/วัน การออกกำลังกล้ามเนื้อนี้ ควรทำหลังที่อาการอักเสบลดลงแล้วค่อยเพิ่มการออกกำลังกาย
5. จากการกดและออกกำลังอาจมีการอักเสบเกิดขึ้นได้ใช้การประคบความเย็นเพื่อลดการอักเสบอีกครั้ง
การใส่อุปกรณ์รัดตรงบริเวณข้อศอก (Tennis elbow cuff) โดยมีจุดประสงค์ให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อมือทำงานลดลง โดยอุปกรณ์นี้จะรัดกล้ามเนื้อที่ต่ำกว่าข้อศอกไว้ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวได้ไม่เต็มที่ ถึงแม้ผู้ป่วยจะเผลอใช้กล้ามเนื้อนี้กระดกข้อมือแรงๆก็ตาม ทำให้ลดแรงกระชากของกล้ามเนื้อที่จุดยึดเกาะกับกระดูก เป็นการป้องกันไม่ให้มีการบาดเจ็บซ้ำ ช่วยให้การอักเสบไม่เกิดมากขึ้น
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าตรงบริเวณจุดยึดเกาะของเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อซึ่งจะลดการอักเสบได้ดี แต่ไม่ควรทำมากกว่า 3-4 ครั้งต่อปี เพราะอาจทำให้เส้นเอ็นขาดได้

2. การรักษาโดยการผ่าตัด ทำในรายที่เป็นมานานๆ และการรักษาโดยไม่ผ่าตัดไม่ได้ผล
การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรค
1. หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องขยับข้อมือขึ้นลงซ้ำ ๆ กระดกข้อมือแรงๆและกำมือแน่นๆ เช่น การบิดผ้าแรงๆ เป็นต้น
2. การประคบกระเป๋าน้ำร้อนบริเวณที่เป็นจะช่วยให้อาการปวดลดลงได้
3.ควรยืดกล้ามเนื้อให้สม่ำเสมอ

ห้องกายภาพบำบัด รพ.รร.จปร.

แนะนำโรคข้อเข่าเสื่อม - Osteoarthritis of the Knee

ข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ หรือในวัยกลางคนขึ้นไป โดยเฉพาะในเพศหญิง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงหนี่งที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้เร็วขึ้นนั่นคือ การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป

อาการข้อเข่าเสื่อม ก็จะเริ่มต้นด้วยการมีอาการปวดข้อ หลังจากที่มีอายุมากขึ้น อาการปวดข้อก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

โรคข้อเข่าเสื่อม ที่กล่าวถึงกันอยู่เป็นประจำในความหมายของคนทั่วไป หมายถึง ภาวะที่ข้อเกิดความผิดปกติเนื่องจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงแบบถดถอย ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับอายุที่มากขึ้น เรียกว่าข้อเข่าเสื่อมชนิดปฐมภูมิ ถ้าหากว่า โรคข้อเข่าเสื่อมมีสาเหตุที่ผิดปกติที่เกิดกับข้อเข่ามาก่อน เช่น การอักเสบของข้อเข่าจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ติดเชื้อ ไขข้ออักเสบ กระดูกหัก เป็นต้น แล้วทำให้ในเวลาต่อมาผิวข้อผิดปกติ และเกิดข้อเสื่อมตามมา ข้อเสื่อมชนิดนี้เรียกว่าข้อเสื่อมทุติยภูมิ พบได้ประปรายในผู้ป่วยทุกอายุ แต่โดยรวมพบได้ไม่บ่อยเท่าข้อเสื่อมชนิดแรก

โครงสร้างของข้อเข่า

ข้อเข่าของคนเราประกอบไปด้วยกระดูก 3 ส่วนคือ

1. กระดูกต้นขาหรือทางการแพทย์เรียกว่ากระดูก femur ซึ่งเป็นกระดูกส่วนบนของเข่า
2. กระดูกหน้าแข็งทางการแพทย์เรียก tibia ซึ่งเป็นกระดูกส่วนล่างของข้อเข่า
3. กระดูกลูกสะบ้าทางการแพทย์เรียก patella ซึ่งอยู่ด้านหน้าของเข่า

ผิวของข้อเข่าจะมีกระดูกอ่อน [cartilage ] รูปครึ่งวงกลมซึ่งทำหน้าที่กระจายน้ำหนัก ในข้อเข่าจะมีน้ำหล่อลื่นภายในข้อเรียก synovial fluid ซึ่งจะเป็นน้ำหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อรอบเข้าซึ่งป้องกันการสึกของข้อ เมื่อเราเดินหรือวิ่งข้อของเราจะต้องรับน้ำหนักเพิ่ม ดังนั้นยิ่งมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นเท่าใดข้อก็จะต้องรับน้ำหนักเพิ่มมาก ขึ้น นอกจากนั้นจะมีกล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อทำให้ข้อแข็งแรง

กลไกการเกิดข้อเข่าเสื่อม

เข่าของคนเราเป็นข้อที่ใหญ่และต้องทำงานมากทำให้เกิดโรคที่เข่าได้ง่ายโรคข้อเข่าเสื่อมหมายถึง การที่กระดูกอ่อนของข้อมีการเสื่อมสภาพทำให้กระดูกอ่อนไม่สามารถเป็นเบาะรองรับน้ำหนัก และมีการสูญเสียคุณสมบัติของ น้ำ หล่อเลี้ยงเข่า เมื่อมีการเคลื่อนไหวของเข่าก็จะเกิดการเสียดสีและเกิดการสึกหรอของกระดูก อ่อน ผิวของกระดูกอ่อนจะแข็งผิวไม่เรียบ เมื่อเคลื่อนไหวข้อเข่าก็จะเกิดเสียงดังในข้อเกิดอาการเจ็บปวด หาก ข้อเข่าที่เสื่อมมีการอักเสบก็จะมีการสร้างน้ำข้อเข่าเพิ่มทำให้เกิดอาการ บวม ตึงและปวดของข้อเข่า เมื่อมีการเสื่อมของข้อเข่ามากขึ้นข้อเข่าก็จะมีอาการโก่งงอทำให้เกิดอาการ ปวดเข่าทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว และขนาดของข้อเข่าก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น ในที่สุดผู้ป่วยต้องใช้เท่าช่วยเดินหรือบางคนจะเดินน้อยลงทำให้กล้ามเนื้อ ต้นขาลีบลงข้อจะติดเหมือนมีสนิมเกาะเหยียดขาได้ไม่สุด

เมื่อเกิดเข่าเสื่อมมากขึ้นกระดูกอ่อน( cartilage )จะมีขนาดบางลง ผิวจะขรุขระ จะมีการงอกของกระดูกขึ้นมาที่เรียกว่า osteophytes เมื่อมีการอักเสบเยื่อหุ้มข้อก็จะสร้างน้ำหล่อเลี้ยงข้อเพิ่มขึ้นทำให้ข้อ เข่ามีขนาดใหญ่ เอ็นรอบข้อจะมีขนาดใหญ่ขึ้น กล้ามเนื้อจะลีบลง การเปลี่ยนแปลงของข้อจะเป็นไปอย่างช้าๆโดยที่ผู้ป่วยไม่ทราบ ในรายที่เป็นรุนแรงกระดูกอ่อนจะบางมาก ปลายกระดูกจะมาชนกัน เวลาขยับข้อจะเกิดเสียงเสียดสีในข้อ

อาการที่สำคัญ

- อาการปวดเข่า เป็นอาการที่สำคัญเริ่มแรกจะปวดเมื่อยตึงทั้งด้านหน้าและด้านหลังของเข่า หรือบริเวณน่อง เมื่อเป็นมากขึ้นจะปวดบริเวณเข่าเมื่อมีการเคลื่อนไหว ลุกนั่งหรือเดินขึ้นบันไดไม่คล่องเหมือนเดิม
- มีเสียงในข้อ เมื่อเคลื่อนไหวผู้ป่วยจะรู้สึกมีเสียงในข้อและปวดเข่า
- อาการบวม ถ้าข้อมีการอักเสบก็จะเกิดข้อบวม
- ข้อเข่าโก่งงอ อาจจะโก่งด้านนอกหรือโก่งด้านใน ทำให้ขาสั้นลงเดินลำบากและมีอาการปวดเวลาเดิน
* ข้อเข่ายึดติด ผู้ป่วยจะไม่สามารถเหยียดหรืองอขาได้สุดเหมือนเดิมเนื่องจากมีการยึดติดภายในข้อ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเสื่อม

- อายุ อายุมากมีโอกาสเป็นมากเนื่องจากอายุการใช้งานมาก
- เพศหญิงจะเป็นโรคเข่าเสื่อมมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า
- น้ำหนัก ยิ่งน้ำหนักตัวมากข้อเข่าจะเสื่อมเร็ว
- การใช้ข้อเข่า ผู้ที่นั่งยองๆ นั่งขัดขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบนานๆจะพบข้อเข่าเสื่อมเร็ว
- การได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุที่ข้อเข่าไม่ว่าจะกระดูกข้อเข่าแตกหรือเอ็นฉีก จะเกิดข้อเข่าเสื่อได้
-
ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและได้รับแคลเซียมในปริมาณที่พอเพียงจะชะลอการเสื่อมของเข่า